“แสนเสียดายดันตายก่อนเงินหมด สุดสลดดันเงินหมดก่อนตาย” อาจเป็นวลีที่ฟังดูน่าขำ แต่หากมองให้ดีแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างมาก หากเกิดกับใครก็ตามที่อยู่ในภาวะผู้สูงวัยและไม่มีเงินเพียงพอ ด้วยเหตุที่ผู้สูงวัยมักไม่มีรายได้จากการทำงาน (active income) ประกอบกับสังคมไทยกำลังประสบภาวะครอบครัวโดยเฉลี่ยมีบุตรน้อยลง รวมทั้งค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มว่าผู้สูงวัยต้องพึ่งพารายได้จากดอกผลของสินทรัพย์ที่สะสมไว้ (passive income) หรือการทยอยขายสินทรัพย์เพื่อสร้างกระแสเงินสดในการดำรงชีพ ชดเชยเงินสนับสนุนจากบุตรหลานที่อาจจะน้อยลง
การพึ่งพาตนเองในด้านการเงินให้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมักตามมาด้วยคำถามว่า “ควรมีเงินเท่าไหร่ จึงจะพอใช้จ่ายในยามเกษียณ” การจะตอบคำถามนี้นักวางแผนการเงินมักต้องแยกคำนวณตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน เช่น เงินที่ใช้เพื่อดำรงชีพ เงินสำหรับกิจกรรมสันทนาการ และเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย เป็นต้น โดยบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะการประเมินเงินที่ใช้เพื่อดำรงชีพซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุด
ปัจจัยที่ใช้มีสองเรื่อง เรื่องแรกคือ จำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้แต่ละเดือนหลังเกษียณ ซึ่งอาจจะลองดูจากไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายแต่ละเดือนของตนเองในปัจจุบันก็ได้ เนื่องจากประเด็นหลักของการวางแผนเกษียณคือ การรักษาระดับคุณภาพชีวิตให้ไม่แตกต่างจากช่วงที่กำลังทำงานอยู่มากนัก อย่างไรก็ดี การประเมินตัวเลขนี้ควรดูจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำรงชีพ เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ของใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ หรือภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาจจะหมดไปแล้วในช่วงเกษียณ แต่หากไม่ทราบว่าควรกำหนดตัวเลขเท่าไหร่ ก็อาจอ้างอิงสถิติค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งประเมินไว้ราว 28,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้พักอาศัยในกรุงเทพฯ และ ราว 22,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยทั่วราชอาณาจักร
เรื่องต่อมาคือ ระยะเวลาที่จะใช้เงินหลังเกษียณ มักแทนด้วยส่วนต่างระหว่างอายุขัยที่คาดหวังกับอายุเกษียณ แต่หากท่านไม่สามารถประเมินอายุขัยตนเองได้ ก็อาจอ้างอิงข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล[1] ซึ่งจัดทำประมาณการอายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 60 ปี (life expectancy at sixty) สำหรับชายไทยเท่ากับ 17.5 ปี (คืออายุคาดหมาย 77.5 ปี) และสำหรับหญิงไทยเท่ากับ 23.0 (คืออายุคาดหมายที่ 83 ปี)
นอกจากนี้ ก็ต้องกำหนดสมมติฐานประกอบ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเพื่อใช้คำนวณค่าใช้จ่ายที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์เพื่อใช้ประมาณการดอกผลที่สามารถนำไปใช้หลังเกษียณ โดยบทความนี้ขอกำหนดสมมติฐานอัตราเงินเฟ้อที่ 2.5% ต่อปี และ ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ 1% ต่อปี และอายุเกษียณที่ 60 ปี สมมติฐานข้างต้นสามารถสรุปเป็นจำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณ ต่อจำนวนเงินที่ใช้ดำรงชีพที่ 10,000 ต่อเดือน ดังแสดงในตารางด้านล่าง
ตารางที่ 1: จำนวนเงินที่ควรมีเพื่อการดำรงชีพ สำหรับระดับการใช้จ่ายปัจจุบัน 10,000 บาทต่อเดือน
ปีที่จะเกษียณ |
อายุปัจจุบัน |
ชายไทย |
หญิงไทย |
เกษียณปีนี้ |
60 ปี |
2.37 |
3.24 |
อีก 5 ปีจะเกษียณ |
55 ปี |
2.68 |
3.67 |
อีก 10 ปีจะเกษียณ |
50 ปี |
3.03 |
4.15 |
อีก 15 ปีจะเกษียณ |
45 ปี |
3.43 |
4.70 |
อีก 20 ปีจะเกษียณ |
40 ปี |
3.88 |
5.32 |
อีก 25 ปีจะเกษียณ |
35 ปี |
4.39 |
6.02 |
อีก 30 ปีจะเกษียณ |
30 ปี |
4.96 |
6.81 |
ข้อมูลในตารางสามารถแปลผลได้ว่า กรณีชายไทยเกษียณอายุปีนี้จะต้องมีเงิน 2.37 ล้านบาท ส่วนหญิงไทยต้องมีเงิน 3.24 ล้านบาทต่อความต้องการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพ 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่จะเกษียณในอนาคตก็ต้องเผื่อเงินเพิ่มขึ้นตามฐานค่าครองชีพในอนาคต ตัวอย่างเช่น หญิงไทยอายุ 45 ปี จะต้องเตรียมเงินไว้ 4.70 ล้านบาทต่อความต้องการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพ 10,000 บาทต่อเดือน หลังจากนั้น ก็นำไปคูณกับค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ สมมติว่า หญิงไทยอายุ 45 ปี ปัจจุบันใช้จ่ายราว 30,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องตั้งเป้าเตรียมเงินไว้เท่ากับ 4.70 ล้านบาทคูณ 3 เท่ากับ 14.1 ล้านบาทนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หากท่านได้ลองคำนวณแล้วเห็นว่าตัวเลขนั้นสูงมาก ก็อย่าเพิ่งท้อใจไป เนื่องจากการคำนวณวางแผนเกษียณที่ครบถ้วนต้องคำนึงถึงแหล่งเงินลงทุนที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และแบบบำนาญ หรืออื่นๆ ตามที่แต่ละท่านมีอยู่ รวมทั้งอัตราการสะสมเงินออมต่อปี อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์แต่ละประเภท และอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถเขียนได้หมดในบทความเดียว ซึ่งจะคำนวณออกมาเป็นส่วนต่างเพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องออมจริงต่อเดือน
อย่างน้อยตั้งเป้าหมายไว้ และเริ่มลงมือทำทีละเล็กทีละน้อย แล้วชีวิตวัยเกษียณที่มีเงินใช้อย่างเพียงพอและมีความสุขก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม
----------------------------------------------------------
สร้างแผนลงทุนเพื่อเป้าหมาย หรือวางแผนเกษียณ ได้ด้วยบริการ DAOLSEC Wealth Advice ลงทุนอย่างมั่นใจ บรรลุเป้าหมายอย่างมั่นคง
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิก หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ DAOL Contact Center โทร 0 2351 1800
DAOL Contact Center Address เลขที่ 87/2 อาคารซีอาร์ซีทาวเวอร์ ชั้นที่ 18 ออลซีซั่นส์เพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
©2025 บริษัท ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สงวนลิขสิทธิ์